Cute Bow Tie Hearts Blinking Blue and Pink Pointer
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครู Information and Communication Technology for Teachers

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วรรณคดีไทย

ความหมายของวรรณคดี

        คำว่า วรรณ หมายถึง สี ผิว ชนิด ส่วนคำว่า คดี แปลว่า แนวทาง ดังนั้น คำว่าวรรณคดีจึงหมายถึง แนวทางของหนังสือ

โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่าวรรณคดีเอาไว้ว่า หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีผู้ให้ความหมายวรรณคดีพอสรุปสังเขปได้ดังนี้

๑. เป็นหนังสือดี อ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ ไม่เป็นเรื่องชักจูงความคิดผู้อ่านไปในทางที่ไม่เป็นแก่นสาร

๒. เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใดๆก็ตามแต่ต้องเป็นภาษาไทยอันดีถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์
๓.เป็นบทประพันธ์อันประกอบด้วยศิลปะแห่งการนิพนธ์และเนื้อเรื่อง
อันมีอำนาจดลใจผู้อ่านให้รู้สึกร่วมได้


ลักษณะของวรรณคดี

วรรณคดีมีลักษณะทั่วไปดังนี้

๑. เนื้อหาเหมาะกับรูปแบบของคำประพันธ์ กล่าวคือกวี ควรจะให้เหมาะสมกับเนื้อหา เช่น การเทิดทูนบุคคลหรือชื่นชมบ้านเมือง ควรใช้คำประพันธ์ประเภทลิลิตหรือคำฉันท์

๒. ภาษาไพเราะและประณีต ซึ่งวรรณคดีไทยจะมุ่งความงามของอรรถรสเป็นสำคัญ มิใช่มุ่งแสดงชีวิตโดยตรงอย่างเดียว ฉะนั้น การใช้ภาษาหรือถ้อยคำจึงต้องประณีต กินใจ โดยเฉพาะคำประพันธ์มักนิยมเล่นสัมผัสหรืออุปมาอุปไมยเพื่อทำให้เกิดจินตนาการและความไพเราะ

๓. ให้คุณค่าทั้งทางสุนทรียภาพและสารประโยชน์ทั้งทางส่วนบุคคลและสังคม

๔. ให้ความบันเทิงใจ ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และให้จินตนาการ

ประโยชน์ของวรรณคดี

การเรียนวรรณคดีทำให้เราได้ศึกษาสิ่งต่างๆ ได้สัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยโดยผ่านทางกวี สภาพสังคม วัฒนธรรม ศึกษาลักษณะคำประพันธ์ที่กวีใช้

๑. วรรณคดีช่วยให้ความรู้หลายด้านที่จะช่วยสร้างเสริมสติปัญญาให้แก่ผู้อ่าน เช่นทางด้านภาษาจะทำให้ผู้อ่านมีความรู้ด้านความหมายของคำ การใช้ภาษาของแต่ละยุคสมัย แต่ละภาค แบบแผนของฉันทลักษณ์แต่ละประเภท ทางด้าน ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ตำนาน นิทาน เรื่องราวพื้นเมืองต่างๆ

๒. วรรณคดีให้คุณค่าทางอารมณ์ต่างๆ เพราะวรรณคดีเป็นเรื่องศิลปะของการถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม ได้รับรสสุนทรียภาพของวรรณคดี

๓. วรรณคดีจะช่วยสะท้อนภาพสังคม สภาพชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ กวีจะสอดแทรกอยู่ในวรรณคดีทั้งสิ้น

๔. วรรณคดีช่วยขัดเกลาจิตใจและยกระดับจิตใจของผู้อ่านให้สูงขึ้น ช่วยจรรโลงจิตใจ ทำให้มนุษย์เห็นตัวอย่างของความทุกข์ ความสุข และปัญหาชีวิตต่างๆ ทำให้ผู้อ่านมองชีวิตด้วยความเข้าใจมากขึ้น

แหล่งที่มา



รามเกียรติ์


ผู้แต่ง :
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

​จุดมุ่งหมาย :
1. เพื่อเป็นการรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้มีความสมบูรณ์เป็นการสมโภชพระนคร
และยังเป็นการประกาศพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย

2. เพื่อใช้เป็นบทละครสำหรับเล่นละครใน และใช้อ่านเพื่อความบันเทิงของประชาชน

3. เพื่อเป็นคติธรรมใช้สอนประชาชนทั้งด้านความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที และคุณธรรมต่าง ๆ
รูปแบบการประพันธ์

รูปแบบการแต่ง :
 1. กลอนแต่ละวรรค มีจำนวนคำระหว่าง 6-8 คำ

 2. กลอนบางตอนใช้รูปแบบของกลบท เช่น บทชมรถ ชมพาหนะ ชมนาง เป็นต้น


เนื้อเรื่อง :
       ประกอบด้วยเรื่องราวน่ารู้ต่างๆ เริ่มด้วยหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน และกำเนิดตัวละครสำคัญๆทั้งฝ่ายยักษ์ ลิง และมนุษย์ แล้วจึงดำเนินเรื่องการสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ซึ่งต้องสู้รบกันหลายครั้งกว่าจะได้ชัยชนะเด็ดขาด ประกอบด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและเรื่องแทรกที่สนุกสนานบันเทิง เสริมด้วยอารมณ์ขัน ทำให้เรื่องราวมีสีสันเหมาะสมกับการแสดงละคร ทั้งยังให้คติธรรมที่ว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม

คุณค่า :
ยกย่องความซื่อสัตย์ ความกตัญญู

แหล่งที่มา



พระอภัยมณี



ผู้แต่ง : สุนทรภู่

เนื้อเรื่องย่อ : ​
       เนื้อเรื่องของนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตและการผจญภัยที่สนุกสนาน ตื่นเต้น มีทั้งสุขและทุกข์ของตัวเอก คือ พระอภัยมณี ซึ่งมีลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากตัวเอกในเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยเคยได้ยินได้ฟัง เช่น พระอภัยมณีเดินทางเข้าป่าเพื่อศึกษาหาความรู้เยี่ยงกษัตริย์ในสมัยนั้น แต่มิได้เรียนวิชาศิลปศาสตร์ กลับเรียนวิชาเป่าปีซึ่งสามารถสะกดคนฟังให้หลับได้ ศรีสุวรรณซึ่งเป็นพระอนุชาของพระอภัยมณีก็เลือกเรียนวิชากระบี่กระบอง การผจญภัยที่ตื่นเต้นของพระอภัยมณี เริ่มด้วยพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาไปอยู่กินกับนางในถ้ำใต้น้ำ

จนกระทั่งนางได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อ สินสมุทร ซึ่งมีฤทธิ์และความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดา สามารถพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทรไปสู่อิสรภาพได้ขณะว่ายน้ำหนี ได้มีครอบครัวเงือกช่วยพาไปยังเกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีได้เงือกสาวเป็นชายา และมีบุตรชายชื่อ สุดสาคร การผจญภัยของพระอภัยมณีครั้งต่อไปเป็นการสู้รบกับอุศเรนคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี พอได้รับชัยชนะก็เดินทางไปยังเมืองผลึก และอภิเษกสมรสกับนางสุวรรณมาลี นางละเวงขึ้นครองเมืองลังกาและคิดทำศึกกับเมืองผลึก นางใช้ไสยศาสตร์เป็นอาวุธทำให้พระอภัยมณีคลุ้มคลั่ง และถูกนางละเวงหลอกไปจนถึงเมืองลังกา ต่อมา พระอภัยมณีเบื่อหน่ายการใช้ชีวิตทางโลก จึงออกบวชเป็นฤาษี นางสุวรรณมาลีกับนางละเวงก็ออกบวชเป็นชี ส่วนสินสมุทรได้ครองเมืองผลึก และสุดสาครได้ครองเมืองลังกา


จุดเด่น : ให้ความรู้และขยายโลกทัศน์เกี่ยวกับสงคราม ทั้งสงครามที่สู้กันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ และการใช้เสียงปี่


แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น